วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ระบบการเพิ่มผลผลิตข้าว SRI


ระบบการเพิ่มผลผลิตข้าว (System of Rice Intensification — SRI)

เป็นระบบการจัดการรวมระหว่าง พืช(ข้าว) ดิน น้ำ และสารอาหาร(ปุ๋ย) ซึ่งอาจจะลดการใช้น้ำลงได้ 25-50% โดยที่เพิ่มผลผลิตได้ถึง 50-100%
เพื่อไม่ให้เสียเวลา สรุปวิธีการและเหตุผลง่ายๆ ดังตารางข้างล่างครับ ส่วนรายละเอียด ดูได้จากลิงก์ต่างๆ ที่ให้ไว้
ใช้ต้นกล้าอ่อนมากๆ อายุเพียง 8-12 วัน ซึ่งมีใบอ่อนเพียงสองใบเท่านั้นกล้าอ่อน+ใบเลี้ยง อยู่ในช่วงที่รากกำลังเจริญเติบโต
ปักดำอย่างระมัดระวังไม่ให้รากช้ำเสียหายเพื่อให้รากได้เจริญเติบโตในดินอย่างมั่นคง
ทีละต้น ไม่ใช่ทีละกระจุกปักดำครั้งละต้นเดียว เพื่อไม่ให้รากของต้นกล้าแย่งอาหารกันเอง
เว้นช่องว่างห่างกว่าปกติ เป็นแถวเป็นแนวขนาด 25×25ซม. 30×30ซม. 40×40ซม. หรือ จะห่างขนาด 50×50ซม. แล้วแต่พันธุ์ข้าว ถ้าดินสมบูรณ์มาก ใช้ระยะห่างได้มากเว้นที่ว่างไว้ให้ รากข้าวได้เติบโตเต็มที่โดยไม่ต้องแย่งอาหารกันเอง แถมยังใช้พันธุ์ข้าวน้อยลงกว่าวิธีการดั้งเดิมด้วย
ดิน: เป็นดินที่ชื้น แต่ไม่มีน้ำขัง ทำให้จุลินทรีย์ในดินเติบโต(ทำงาน)ได้ช่วยให้ประสิทธิภาพของระบบรากดีขึ้น เร่งการเจริญเติบโตของต้นข้าว และนำมาสู่ผลผลิตที่มากขึ้น
น้ำ: รดดินพอให้เปียกเท่านั้น แต่หลักใหญ่คือจะไม่ผันน้ำเข้านาจนท่วม แล้วให้ข้าวโตหนีน้ำ — บางทีถ้าไม่มีแรงงานรดน้ำ ก็ใช้ผันน้ำเข้าแค่ท่วมดิน แล้วระบายออกเป็นรอบทุก 3-5 วันใช้น้ำเฉพาะเพื่อให้ระบบรากของต้นข้าว ละลายสารอาหารในดิน เพื่อนำไปเสริมสร้างการเจริญเติบโตของข้าว จึงใช้น้ำน้อยกว่าการทำนาแบบที่ทำกันอยู่ในเมืองไทย ยิ่งกว่านั้นเพราะไม่มีน้ำท่วมนา จึงไม่มีการหมักเน่าของซากพืชซากสัตว์ในนา ลดการปล่อยก๊าซมีเธนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีฤทธิ์รุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 20 เท่า
ปุ๋ย: ขึ้นกับสภาพดิน แต่พบว่าปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์อื่นๆ ให้ดีกว่าปุ๋ยเคมีปุ๋ยคือสารอาหารสำหรับการเจริญเติบโตของข้าว ปรับสภาพดินให้เหมาะ
วัชพืช: เพราะว่าแนวปลูกอยู่ห่างกันกว่าวิธีดั้งเดิม จึงสามารถพรวนดินโดยไถระหว่างช่องได้การพรวนดิน เป็นการเติมอากาศลงในดิน ทำให้รากทำงานได้ดีขึ้น วัชพืชที่ถูกพรวนไปพร้อมกับดิน กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ไปในที่สุด

วิธีการปลูกข้าว


วิธีการปลูกข้าว

  1. การทำนาดำ

          
    การทำนาดำ เป็นการทำนาโดยวิธีการใช้ต้นกล้าปักดำลงไปในแปลงนา โดยจะทำกันในช่วงที่มีฝนตกชุก หรือในท้องนาที่มีน้ำท่วมพอที่จะสามารถปักดำได้ สำหรับขั้นตอนในการทำนั้น มีหลายขั้นตอน โดยขั้นแรกจะต้องมีการเตรียมแปลงไว้สำหรับเพาะต้นกล้าเสียก่อน จากนั้นชาวนาจะนำเมล็ดพันธุ์ไปแช่น้ำไว้ประมาณ 1-2 คืน เมื่อรากงอกแล้วก็จะไปหว่านลงในแปลงที่เตรียมไว้สำหรับเพาะกล้า เมื่อต้นกล้ามีอายุ 25-30 วัน ชาวนาก็จะถอนต้นกล้าแล้วมัดรวมไว้เป็นกำๆ ขนาดพออุ้มได้หากปลายยาวก็จะตัดปลายใบข้าวเสียก่อน แล้วจึงนำไปปักดำที่แปลงนาที่ได้ทำการไถและคราดไว้แล้ว

          วิธีการปักดำของชาวนา บางแห่งนิยมปลูกโดยการเดินหน้า แต่ส่วนมากจะปลูกโดยการเดินถอยหลังเรียงแถวเป็นหน้ากระดาน จะช่วยให้มองเห็นแถวที่ดำไปแล้ว การดำนาชาวนาจะใช้มือข้างหนึ่งอุ้มกล้าไว้ชิดกับตัว มืออีกข้างหนึ่งหยิบเอาต้นกล้าออกจากมัดกล้าประมาณ 3-5 ต้น แล้วเอาหัวแม่มือและนิ้วชี้จับโคนต้นกล้า นิ้วกลางและนิ้วนางประคองต้นกล้า นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ดันต้นกล้าให้จมลงในดิน แล้วใช้นิ้วกลางและนิ้วนางปาดโคลนมากลบโคนต้นกล้า สำหรับระยะห่างในการดำหากพื้นที่อุดมสมบูรณ์ก็จะปลูกห่างกว่าพื้นที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์เพราะต้นข้าวจะกอใหญ่เบียดกันแน่น ทำให้รวงข้าวรับแสงไม่ค่อยดี การทำนาดำจะให้ผลผลิตข้าวมากกว่าข้าวนาหว่าน
  2. การทำนาหว่าน

          การทำนาหว่าน เป็นการปลูกข้าวโดยเอาเมล็ดพันธุ์หว่านลงในพื้นที่ที่ได้มีการไถเตรียมแล้ว ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมกันมากเพราะไม่ต้องใช้น้ำมากและยังเป็นการประหยัดเวลา สำหรับวิธีการปลูกจะคล้ายๆกับการทำนาแบบปักดำ แต่ขั้นตอนไม่ยุ่งยากเท่า การทำนาหว่านจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ การหว่านเมล็ดข้าวแล้วจึงไถกลบข้าว โดยขั้นแรกจะทำการไถดะก่อนจากนั้นก็หว่านเมล็ดข้าวแล้วทำการไถกลบข้าวและวัชพืชไปพร้อมกันเพื่อให้เป็นปุ๋ยสำหรับข้าว และอีกแบบหนึ่งสำหรับการปลูกข้าวโดยการหว่านแล้วจึงทำการคราดกลบ โดยจะทำการไถกลบวัชพืชให้ตายก่อนจึงทำการหว่านเมล็ดข้าวลงไปในแปลงนาแล้วทำการคราดกลบเมล็ดข้าว

          สำหรับการทำนาหว่านควรหว่านให้ข้าวกระจายกันออกไปไม่ควรให้ถี่หรือติดกันมากเพราะจะทำให้ต้นข้าวเกิดได้ไม่ดี และต้นมีขนาดเล็ก สำหรับเมล็ดข้าวที่ใช้ในการหว่านจะมีทั้งแบบการหว่านแห้งซึ่งเป็นการหว่านเมล็ดข้าวแห้งที่ไม่ได้แช่น้ำก่อนลงไปในแปลงนาที่มีน้ำบ้างแห้งสลับกันไป และอีกแบบคือการหว่านใต้น้ำ เป็นการหว่านเมล็ดข้าวที่ทำการแช่น้ำก่อนประมาณ 2 วันเพื่อให้รากงอกก่อนแล้วนำไปหว่านลงในแปลงนาที่มีน้ำขังอยู่
  3. การทำนาหยอด

          การทำนาหยอด เป็นวิธีการปลูกข้าวโดยการ หยอดเมล็ดข้าวแห้งลงไปในดินที่เป็นหลุม ซึ่งการทำนาหยอดจะอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก เมื่อถึงช่วงต้นของฤดูการปลูกชาวนาจะทำการไถ กำจัดวัชพืชต่างๆเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับปลูก จากนั้นจะใช้ไม้เจาะหลุมให้กว้างพอที่ทำการหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไปในหลุมได้ หรือใช้วิธีการโรยเป็นแถว แล้วทำการกลบฝังเมล็ดข้าว รอจนกระทั่งฝนตกลงมาต้นข้าวก็จะงอกและเจริญเติบโตจนสามารถเก็บเกี่ยวได้

          การปลูกข้าวโดยวิธีนี้สามารถทนแล้งได้หากประสบภาวะฝนทิ้งช่วง เพราะรากของข้าวนาหยอดจะแข็งแรง และสามารถทนน้ำท่วมฉับพลันได้อีกด้วย การปลูกนิยมปลูกในที่ราบเชิงเขา หรือ ที่ราบบนภูเขาซึ่งเป็นดินที่ไม่สามารถกักน้ำไว้ได้ และที่ดินที่เหมาะควรเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินร่วน เพราะนอกจากจะทำให้รากในสภาพแล้งสามารถหยั่งลึกลงดินได้ วิธีการเตรียมดินสะดวก สามารถกำจัดวัชพืชได้ง่าย พบการทำนาหยอดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
  4. การทำนาโยน

          การทำนาโยน เป็นวิธีการปลูกข้าวด้วยวิธีการโยนกล้า มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อควบคุมข้าววัชพืชและพืชทั่วไป ซึ่งเป็นการทำนาที่เหมาะกับการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากแปลงนาข้าวจะมีความโปร่งโล่งซึ่งจะลดการระบาดของโรคแมลงศัตรูข้าวอันนำไปสู่การลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูข้าวได้

          ขั้นตอนแรก การเตรียมเพาะกล้าพันธุ์ในกระบะเพาะกล้าที่มีลักษณะเป็นหลุม โดยใส่ดินในหลุมประมาณครึ่งหนึ่งและหว่านเมล็ดข้าวงอกลงในหลุมใส่ดินปิดเมล็ดพันธุ์ข้าวและระวังอย่าให้ดินล้นออกมานอกหลุม เพราะจะทำให้รากข้าวที่งอกออกมาพันกัน เวลาหว่านต้นข้าวจะไม่กระจายตัว หลังจากนั้นนำกระสอบป่านมาคลุมที่ถาดเพาะกล้า และรดน้ำเช้า-เย็น เป็นเวลา 3-4 วัน จนต้นข้าวงอกทะลุกระสอบป่าน หลังจากนั้นนำกระสอบป่านออก แล้วรดน้ำต่อไปจนกล้าอายุ 15 วัน

          ขั้นที่สอง คือการเตรียมแปลงนา โดยก่อนการทำนาให้ปล่อยแปลงนาให้แห้งอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ข้าววัชพืชพ้นระยะพักตัวหรือให้เมล็ดข้าววัชพืชที่ร่วงในนาพร้อมที่จะงอกให้มากที่สุดและขังน้ำไว้ในแปลงนา 1 คืน โดยปล่อยให้น้ำแห้งเองเพื่อล่อข้าววัชพืชให้งอกขึ้นมาเต็มที่ โดยไม่ควรพ่น สารเคมีกำจัดแต่ให้ไถกลบเพื่อให้เป็นปุ๋ยต่อไปจากนั้นให้ไถเตรียมดินเหมือนการทำนาดำ หรือนาหว่านทั่วไป แต่ปรับเทือกให้สม่ำเสมอมากที่สุด

          ขั้นที่สาม คือ การโยนกล้าลงสู่แปลงนา โดยขณะที่โยนต้นกล้าในแปลงนาควรมีน้ำขลุกขลิกเล็กน้อยจากนั้นคนที่จะโยนกล้าจะหยิบกระบะกล้ามาวางพาดบนแขน แล้วใช้มือหยิบกล้าข้าวหว่านหรือโยนลงในแปลงนา โดยโยนให้สูงกว่าศีรษะ ต้นกล้าจะพุ่งดิ่งลงโดยใช้ส่วนรากที่มีดินติดอยู่ลงดินก่อน ส่วนการปฏิบัติดูแลรักษาทำเช่นเดียวกันกับการทำนาวิธีอื่น ๆ ทุกประการ

การปลูกข้าวแบบ SRI

รัฐไตรปุระ, อินเดีย 

WWF ตีพิมพ์บทความเมื่อเร็ว ๆ นี้ถึงความสำเร็จของการศึกษาวิธีปลูกข้าวด้วยวิธีใหม่ที่ประหยัดน้ำหลายเท่า แต่ให้ผลผลิตมากขึ้น 

การศึกษาครั้งนี้เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดียซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่ใหญ่ที่สุดของโลกแต่กำลังประสบปัญหาเรื่องปริมาณน้ำที่น้อยลง ผลการศึกษาพบว่าวิธีปลูกข้าวแบบใหม่หรือเรียกย่อ ๆ ว่า SRI ( The System of Rice Intensification) ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นถึง 30 % หรือเท่ากับ 4-5 ตันต่อพื้นที่ 1 เฮคแตร์ เมื่อเทียบกับวิธีปลูกข้าวแบบธรรมดาที่ได้ผลผลิตเพียง 3 ตันต่อเฮคแตร์ และวิธีใหม่นี้ยังใช้น้ำน้อยกว่าวิธีแบบเดิมถึง 40 % 

วิธีปลูกข้าวแบบใหม่นี้ใช้หลักการ 8 ประการซึ่งแตกต่างจากการปลูกข้าวทั่วไป เช่น 1) ทำการพัฒนาแร่ธาตุในดินและปลูกต้นกล้าที่ไม่ใช้น้ำท่วมขัง 2) เว้นระยะห่างของข้าวแต่ละต้นให้มากกว่าเดิม 3) ใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี 4) จัดการน้ำอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้รากต้นข้าวอุ้มน้ำมากเกินไป 

วิธีปลูกข้าวแบบนี้เคยทำการศึกษาเป็นครั้งแรกในราวปี 1980 ที่เกาะมาดากัสการ์ และได้ทดลองใช้อย่างมีประสิทธิผลใน 28 ประเทศ 

ดร. บิคแชม กุจจา ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายของ WWF International กล่าวว่า “ แม้ว่าวิธีปลูกข้าวแบบ SRI นี้จะมีประสิทธิภาพมาก แต่เราจำเป็นต้องขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ให้คนรู้มากกว่านี้ ถึงเวลาแล้วที่ต้องป่าวประกาศให้ชาวนาในพื้นที่อื่น ๆ ให้หันมาใช้วิธีการปลูกข้าวแบบนี้ เพราะจะส่งผลดีต่อโลกของเราและเป็นประโยชน์ต่อทั้งคนและธรรมชาติ ” 

ผลการศึกษาแนะนำว่าประเทศที่ผลิตข้าวใหญ่ ๆ อย่าง ประเทศอินเดีย จีน และอินโดนีเซีย ควรเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวของตัวเองให้ใช้วิธีการ SRI นี้ให้ได้ราว 25 % ก่อนปี 2025 เพราะไม่ใช่เพียงแค่การประหยัดน้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มผลผลิตข้าวให้มากขึ้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการลดก๊าซมีเธนสู่บรรยากาศของโลกด้วย เพราะวิธีปลูกข้าวแบบ SRI จะไม่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งแตกต่างจากการปลูกข้าวด้วยวิธีธรรมดา 

เมื่อคำนวณอย่างคร่าว ๆ หากมีการปลูกข้าวด้วยวิธี SRI ในพื้นที่ 20 ล้านเฮคแตร์ในประเทศอินเดีย ก็จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการผลิตข้าว 220 ล้านตันต่อปีได้ภายในปี 2012 แทนเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ปี 2050 

ผู้บริหารรัฐไตรปุระตระหนักถึงความสำเร็จนี้และกำลังวางแผนเพื่อขยายการปลูกข้าวไปสู่พื้นที่อื่น ๆ 

มานิค ซาการ์ ผู้ว่าฯ รัฐไตรปุระ กล่าวว่า “ ชาวนาของรัฐเราที่ทำการทดลองปลูกข้าวแบบใหม่นี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ดังนั้น เราจึงตั้งใจว่าจะผลักดันให้พื้นที่ 40 % ของพื้นที่นาในรัฐของเราให้หันมาใช้วิธีนี้ภายใน 5 ปีข้างหน้า ” 

“ และเราจะใช้โมเดลการปลูกข้าวนี้ขยายไปสู่รัฐอื่น ๆ เพราะนี่เป็นความหวังอย่างหนึ่งของเราที่จะแก้ไขวิกฤติกาลขาดน้ำที่มีผลกระทบต่อคนหลายร้อยล้านคนได้ ”

มีการคาดกันว่า ความต้องการที่จะใช้น้ำในการปลูกข้าวจะเพิ่มขึ้น 38 % ในปี 2040 ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาการขาดน้ำเพิ่มมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวราว 6 % เท่านั้นที่มีการซื้อขายข้ามประเทศ ดังนั้นการปลูกข้าวด้วยวิธีใช้น้ำน้อยนี้จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำภายในประเทศได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ยากจนที่กำลังประสบปัญหาขาดน้ำ 

ในปัจจุบันประชาคมโลก 1,200 ล้านคนอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำและไม่มีสุขอนามัยที่เพียงพอ WWF กำลังทุ่มเทพยายามศึกษา การทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนในการปลูกฝ้าย น้ำตาล และข้าว ซึ่งเป็นพืชพันธุ์ที่มีการบริโภคมากที่สุด ซึ่งเทคนิคที่คิดค้นในการปลูกด้วยวิธีใหม่ ๆ จะช่วยให้มีผลผลิตมากขึ้นแต่ใช้น้ำน้อยลง 

หมายเหตุ
  • ท่านสามารถอ่านผลการศึกษาฉบับเต็มได้ที่www.panda.org/about_wwf/what_we_do/freshwater/publications/index.cfm
  • ข้าวเป็นผลผลิตหลักในการบริโภคของประชากรครึ่งหนึ่งของโลก และ 90 % ของข้าวปลูกมาจากพื้นที่ในทวีบเอเชีย
  • ข้อเท็จจริงที่คนชอบปลูกข้าวในน้ำก็เพราะเป็นการป้องกันวัชพืช ทั้ง ๆ ที่ต้นข้าว ไม่ใช่พืชน้ำ
  • วิธีปลูกข้าวธรรมดาที่นิยมในปัจจุบันต้องใช้เมล็ดพันธุ์ 60-70 กิโลกรัมต่อ 1 เฮคแตร์ แต่วิธีการปลูกแบบใหม่ หรือ SRI ใช้ข้าวเพียง 5 กิโลกรัมต่อ 1 เฮคแตร์เท่านั้น

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประเภทการปลูกข้าวตามสภาพพื้นที่เพาะปลูก


ประเภทการปลูกข้าวตามสภาพพื้นที่เพาะปลูก

  1. การทำนาไร่
    (ภาคเหนือเรียกว่า “ปูกเข้าไฮ่”)

          การทำนาไร่ เป็นวิธีการปลูกข้าวแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นข้าวที่ไม่ต้องการน้ำหล่อเลี้ยงในการเจริญเติบโต และมักจะตายถ้ามีน้ำขังอยู่นาน แต่ต้องการความชุ่มชื้นของดินเหมือนกับพืชไร่ ซึ่งจะอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติเป็นหลัก ข้าวไร่จึงนิยมปลูกบนที่ราบสูงหรือตามไหล่เขาในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในปัจจุบันแม้จะไม่ใช่ที่ราบสูงก็สามารถปลูกข้าวไร่ได้ เนื่องจากการทำนาไร่ ต้องอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียวพื้นดินที่ปลูกข้าวไร่จะแห้งและขาดน้ำทันทีเมื่อสิ้นฤดูฝน ดังนั้น การปลูกข้าวไร่  จะต้องใช้พันธุ์ที่มีอายุเบา โดยปลูกในต้นฤดูฝน และแก่เก็บเกี่ยวได้ในปลายฤดูฝน การปลูกข้าวไร่ชาวนาจะต้องหมั่นกำจัดวัชพืช เพราะที่ดอนมักจะมีวัชพืชมากกว่าที่ลุ่ม
     
  2. การทำนาสวน
    (ภาคเหนือเรียกว่า “เยียะนาโท่ง”)

          การทำนาสวน เป็นการปลูกข้าวที่ต้องการน้ำหล่อเลี้ยงในระหว่างการเจริญเติบโต โดยมักนิยมปลูกในพื้นที่ราบลุ่มและมีน้ำขัง หรือตามทุ่งนาทั่วๆไป โดยมีคันนาล้อมรอบ การทำนาสวนในปัจจุบันจะปลูกโดยวิธีปักดำคือ หว่านเมล็ดลงแปลงให้ต้นงอกเจริญพอที่จะปลูกได้ที่เรียกว่า “ต้นกล้า” แล้วถอนเอาไปปักดำในแปลงนาที่เตรียมไว้ หากเป็นวิธีการหว่านก็เพียงแค่หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงในแปลงนาที่เตรียมไว้เท่านั้น การทำนาสวนต้องอาศัยน้ำฝนหรือน้ำชลประทานในการหล่อเลี้ยงต้นข้าวตั้งแต่ระยะเริ่มปลูกจนถึงระยะก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งข้าวทนความลึกของน้ำได้ ไม่เกิน 1 เมตร ข้าวนาสวนจัดว่าเป็นข้าวชั้นดี และมีน้ำหนัก เพราะมีน้ำมาหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ และอาจเนื่องมาจากพื้นที่ในการปลูกไม่มากนักจึงทำให้สามารถดูแลรักษาได้ดี เมื่อข้าวถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ตามเวลา คุณภาพข้าวจึงดีมากทำให้มีการซื้อขายกันในราคาสูง
  3. การทำนาเมือง

          การทำนาเมือง เป็นการปลูกข้าวในพื้นลุ่มลึก มีระดับน้ำตั้งแต่ 50 เซนติเมตรขึ้นไปจนถึง 3-4 เมตร และเป็นนาที่ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก พบการปลูกข้าวนาเมืองมากในภาคกลาง ซึ่งการปลูกข้าวต้องใช้พันธุ์ข้าวที่มีลำต้นยาวพิเศษ และสามารถเจริญเติบโตได้เมื่อน้ำในนามีระดับเพิ่มสูงขึ้น การทำนาเมืองจะปลูกโดยวิธีหว่านแห้ง เมื่อมีฝนตกลงมาข้าวจะงอกเจริญเติบโตได้สักระยะ แต่เมื่อเข้าสู่กลางฤดูฝนปริมาณของน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ต้นข้าวจะยืดปล้องให้ข้าวโผล่ขึ้นเหนือน้ำและมีชีวิตอยู่ได้จนระดับน้ำลดลง ข้าวที่สูงจะเอนราบไปบนพื้นดินจนเหลือปล้องสุดท้ายของต้นข้าว โดยต้นยังคงตั้งชูอยู่ในนาเพื่อชูรวงข้าวและรอการเก็บเกี่ยวต่อไป ข้าวนาเมืองคุณภาพของเมล็ดจะคุณภาพต่ำ และราคาข้าวจะถูกกว่าข้าวนาสวนเนื่องจากมีมันน้อย เมล็ดแตกหักมากเมื่อนำไปสี