วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประเภทการปลูกข้าวตามสภาพพื้นที่เพาะปลูก


ประเภทการปลูกข้าวตามสภาพพื้นที่เพาะปลูก

  1. การทำนาไร่
    (ภาคเหนือเรียกว่า “ปูกเข้าไฮ่”)

          การทำนาไร่ เป็นวิธีการปลูกข้าวแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นข้าวที่ไม่ต้องการน้ำหล่อเลี้ยงในการเจริญเติบโต และมักจะตายถ้ามีน้ำขังอยู่นาน แต่ต้องการความชุ่มชื้นของดินเหมือนกับพืชไร่ ซึ่งจะอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติเป็นหลัก ข้าวไร่จึงนิยมปลูกบนที่ราบสูงหรือตามไหล่เขาในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในปัจจุบันแม้จะไม่ใช่ที่ราบสูงก็สามารถปลูกข้าวไร่ได้ เนื่องจากการทำนาไร่ ต้องอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียวพื้นดินที่ปลูกข้าวไร่จะแห้งและขาดน้ำทันทีเมื่อสิ้นฤดูฝน ดังนั้น การปลูกข้าวไร่  จะต้องใช้พันธุ์ที่มีอายุเบา โดยปลูกในต้นฤดูฝน และแก่เก็บเกี่ยวได้ในปลายฤดูฝน การปลูกข้าวไร่ชาวนาจะต้องหมั่นกำจัดวัชพืช เพราะที่ดอนมักจะมีวัชพืชมากกว่าที่ลุ่ม
     
  2. การทำนาสวน
    (ภาคเหนือเรียกว่า “เยียะนาโท่ง”)

          การทำนาสวน เป็นการปลูกข้าวที่ต้องการน้ำหล่อเลี้ยงในระหว่างการเจริญเติบโต โดยมักนิยมปลูกในพื้นที่ราบลุ่มและมีน้ำขัง หรือตามทุ่งนาทั่วๆไป โดยมีคันนาล้อมรอบ การทำนาสวนในปัจจุบันจะปลูกโดยวิธีปักดำคือ หว่านเมล็ดลงแปลงให้ต้นงอกเจริญพอที่จะปลูกได้ที่เรียกว่า “ต้นกล้า” แล้วถอนเอาไปปักดำในแปลงนาที่เตรียมไว้ หากเป็นวิธีการหว่านก็เพียงแค่หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงในแปลงนาที่เตรียมไว้เท่านั้น การทำนาสวนต้องอาศัยน้ำฝนหรือน้ำชลประทานในการหล่อเลี้ยงต้นข้าวตั้งแต่ระยะเริ่มปลูกจนถึงระยะก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งข้าวทนความลึกของน้ำได้ ไม่เกิน 1 เมตร ข้าวนาสวนจัดว่าเป็นข้าวชั้นดี และมีน้ำหนัก เพราะมีน้ำมาหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ และอาจเนื่องมาจากพื้นที่ในการปลูกไม่มากนักจึงทำให้สามารถดูแลรักษาได้ดี เมื่อข้าวถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ตามเวลา คุณภาพข้าวจึงดีมากทำให้มีการซื้อขายกันในราคาสูง
  3. การทำนาเมือง

          การทำนาเมือง เป็นการปลูกข้าวในพื้นลุ่มลึก มีระดับน้ำตั้งแต่ 50 เซนติเมตรขึ้นไปจนถึง 3-4 เมตร และเป็นนาที่ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก พบการปลูกข้าวนาเมืองมากในภาคกลาง ซึ่งการปลูกข้าวต้องใช้พันธุ์ข้าวที่มีลำต้นยาวพิเศษ และสามารถเจริญเติบโตได้เมื่อน้ำในนามีระดับเพิ่มสูงขึ้น การทำนาเมืองจะปลูกโดยวิธีหว่านแห้ง เมื่อมีฝนตกลงมาข้าวจะงอกเจริญเติบโตได้สักระยะ แต่เมื่อเข้าสู่กลางฤดูฝนปริมาณของน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ต้นข้าวจะยืดปล้องให้ข้าวโผล่ขึ้นเหนือน้ำและมีชีวิตอยู่ได้จนระดับน้ำลดลง ข้าวที่สูงจะเอนราบไปบนพื้นดินจนเหลือปล้องสุดท้ายของต้นข้าว โดยต้นยังคงตั้งชูอยู่ในนาเพื่อชูรวงข้าวและรอการเก็บเกี่ยวต่อไป ข้าวนาเมืองคุณภาพของเมล็ดจะคุณภาพต่ำ และราคาข้าวจะถูกกว่าข้าวนาสวนเนื่องจากมีมันน้อย เมล็ดแตกหักมากเมื่อนำไปสี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น