วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิธีการปลูกข้าว


วิธีการปลูกข้าว

  1. การทำนาดำ

          
    การทำนาดำ เป็นการทำนาโดยวิธีการใช้ต้นกล้าปักดำลงไปในแปลงนา โดยจะทำกันในช่วงที่มีฝนตกชุก หรือในท้องนาที่มีน้ำท่วมพอที่จะสามารถปักดำได้ สำหรับขั้นตอนในการทำนั้น มีหลายขั้นตอน โดยขั้นแรกจะต้องมีการเตรียมแปลงไว้สำหรับเพาะต้นกล้าเสียก่อน จากนั้นชาวนาจะนำเมล็ดพันธุ์ไปแช่น้ำไว้ประมาณ 1-2 คืน เมื่อรากงอกแล้วก็จะไปหว่านลงในแปลงที่เตรียมไว้สำหรับเพาะกล้า เมื่อต้นกล้ามีอายุ 25-30 วัน ชาวนาก็จะถอนต้นกล้าแล้วมัดรวมไว้เป็นกำๆ ขนาดพออุ้มได้หากปลายยาวก็จะตัดปลายใบข้าวเสียก่อน แล้วจึงนำไปปักดำที่แปลงนาที่ได้ทำการไถและคราดไว้แล้ว

          วิธีการปักดำของชาวนา บางแห่งนิยมปลูกโดยการเดินหน้า แต่ส่วนมากจะปลูกโดยการเดินถอยหลังเรียงแถวเป็นหน้ากระดาน จะช่วยให้มองเห็นแถวที่ดำไปแล้ว การดำนาชาวนาจะใช้มือข้างหนึ่งอุ้มกล้าไว้ชิดกับตัว มืออีกข้างหนึ่งหยิบเอาต้นกล้าออกจากมัดกล้าประมาณ 3-5 ต้น แล้วเอาหัวแม่มือและนิ้วชี้จับโคนต้นกล้า นิ้วกลางและนิ้วนางประคองต้นกล้า นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ดันต้นกล้าให้จมลงในดิน แล้วใช้นิ้วกลางและนิ้วนางปาดโคลนมากลบโคนต้นกล้า สำหรับระยะห่างในการดำหากพื้นที่อุดมสมบูรณ์ก็จะปลูกห่างกว่าพื้นที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์เพราะต้นข้าวจะกอใหญ่เบียดกันแน่น ทำให้รวงข้าวรับแสงไม่ค่อยดี การทำนาดำจะให้ผลผลิตข้าวมากกว่าข้าวนาหว่าน
  2. การทำนาหว่าน

          การทำนาหว่าน เป็นการปลูกข้าวโดยเอาเมล็ดพันธุ์หว่านลงในพื้นที่ที่ได้มีการไถเตรียมแล้ว ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมกันมากเพราะไม่ต้องใช้น้ำมากและยังเป็นการประหยัดเวลา สำหรับวิธีการปลูกจะคล้ายๆกับการทำนาแบบปักดำ แต่ขั้นตอนไม่ยุ่งยากเท่า การทำนาหว่านจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ การหว่านเมล็ดข้าวแล้วจึงไถกลบข้าว โดยขั้นแรกจะทำการไถดะก่อนจากนั้นก็หว่านเมล็ดข้าวแล้วทำการไถกลบข้าวและวัชพืชไปพร้อมกันเพื่อให้เป็นปุ๋ยสำหรับข้าว และอีกแบบหนึ่งสำหรับการปลูกข้าวโดยการหว่านแล้วจึงทำการคราดกลบ โดยจะทำการไถกลบวัชพืชให้ตายก่อนจึงทำการหว่านเมล็ดข้าวลงไปในแปลงนาแล้วทำการคราดกลบเมล็ดข้าว

          สำหรับการทำนาหว่านควรหว่านให้ข้าวกระจายกันออกไปไม่ควรให้ถี่หรือติดกันมากเพราะจะทำให้ต้นข้าวเกิดได้ไม่ดี และต้นมีขนาดเล็ก สำหรับเมล็ดข้าวที่ใช้ในการหว่านจะมีทั้งแบบการหว่านแห้งซึ่งเป็นการหว่านเมล็ดข้าวแห้งที่ไม่ได้แช่น้ำก่อนลงไปในแปลงนาที่มีน้ำบ้างแห้งสลับกันไป และอีกแบบคือการหว่านใต้น้ำ เป็นการหว่านเมล็ดข้าวที่ทำการแช่น้ำก่อนประมาณ 2 วันเพื่อให้รากงอกก่อนแล้วนำไปหว่านลงในแปลงนาที่มีน้ำขังอยู่
  3. การทำนาหยอด

          การทำนาหยอด เป็นวิธีการปลูกข้าวโดยการ หยอดเมล็ดข้าวแห้งลงไปในดินที่เป็นหลุม ซึ่งการทำนาหยอดจะอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก เมื่อถึงช่วงต้นของฤดูการปลูกชาวนาจะทำการไถ กำจัดวัชพืชต่างๆเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับปลูก จากนั้นจะใช้ไม้เจาะหลุมให้กว้างพอที่ทำการหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไปในหลุมได้ หรือใช้วิธีการโรยเป็นแถว แล้วทำการกลบฝังเมล็ดข้าว รอจนกระทั่งฝนตกลงมาต้นข้าวก็จะงอกและเจริญเติบโตจนสามารถเก็บเกี่ยวได้

          การปลูกข้าวโดยวิธีนี้สามารถทนแล้งได้หากประสบภาวะฝนทิ้งช่วง เพราะรากของข้าวนาหยอดจะแข็งแรง และสามารถทนน้ำท่วมฉับพลันได้อีกด้วย การปลูกนิยมปลูกในที่ราบเชิงเขา หรือ ที่ราบบนภูเขาซึ่งเป็นดินที่ไม่สามารถกักน้ำไว้ได้ และที่ดินที่เหมาะควรเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินร่วน เพราะนอกจากจะทำให้รากในสภาพแล้งสามารถหยั่งลึกลงดินได้ วิธีการเตรียมดินสะดวก สามารถกำจัดวัชพืชได้ง่าย พบการทำนาหยอดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
  4. การทำนาโยน

          การทำนาโยน เป็นวิธีการปลูกข้าวด้วยวิธีการโยนกล้า มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อควบคุมข้าววัชพืชและพืชทั่วไป ซึ่งเป็นการทำนาที่เหมาะกับการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากแปลงนาข้าวจะมีความโปร่งโล่งซึ่งจะลดการระบาดของโรคแมลงศัตรูข้าวอันนำไปสู่การลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูข้าวได้

          ขั้นตอนแรก การเตรียมเพาะกล้าพันธุ์ในกระบะเพาะกล้าที่มีลักษณะเป็นหลุม โดยใส่ดินในหลุมประมาณครึ่งหนึ่งและหว่านเมล็ดข้าวงอกลงในหลุมใส่ดินปิดเมล็ดพันธุ์ข้าวและระวังอย่าให้ดินล้นออกมานอกหลุม เพราะจะทำให้รากข้าวที่งอกออกมาพันกัน เวลาหว่านต้นข้าวจะไม่กระจายตัว หลังจากนั้นนำกระสอบป่านมาคลุมที่ถาดเพาะกล้า และรดน้ำเช้า-เย็น เป็นเวลา 3-4 วัน จนต้นข้าวงอกทะลุกระสอบป่าน หลังจากนั้นนำกระสอบป่านออก แล้วรดน้ำต่อไปจนกล้าอายุ 15 วัน

          ขั้นที่สอง คือการเตรียมแปลงนา โดยก่อนการทำนาให้ปล่อยแปลงนาให้แห้งอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ข้าววัชพืชพ้นระยะพักตัวหรือให้เมล็ดข้าววัชพืชที่ร่วงในนาพร้อมที่จะงอกให้มากที่สุดและขังน้ำไว้ในแปลงนา 1 คืน โดยปล่อยให้น้ำแห้งเองเพื่อล่อข้าววัชพืชให้งอกขึ้นมาเต็มที่ โดยไม่ควรพ่น สารเคมีกำจัดแต่ให้ไถกลบเพื่อให้เป็นปุ๋ยต่อไปจากนั้นให้ไถเตรียมดินเหมือนการทำนาดำ หรือนาหว่านทั่วไป แต่ปรับเทือกให้สม่ำเสมอมากที่สุด

          ขั้นที่สาม คือ การโยนกล้าลงสู่แปลงนา โดยขณะที่โยนต้นกล้าในแปลงนาควรมีน้ำขลุกขลิกเล็กน้อยจากนั้นคนที่จะโยนกล้าจะหยิบกระบะกล้ามาวางพาดบนแขน แล้วใช้มือหยิบกล้าข้าวหว่านหรือโยนลงในแปลงนา โดยโยนให้สูงกว่าศีรษะ ต้นกล้าจะพุ่งดิ่งลงโดยใช้ส่วนรากที่มีดินติดอยู่ลงดินก่อน ส่วนการปฏิบัติดูแลรักษาทำเช่นเดียวกันกับการทำนาวิธีอื่น ๆ ทุกประการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น